ชีวิตเบา คือ ชีวิตที่เข้าใจในความไม่มีตัวเรา ของเรา ละได้ซึ่งความเป็นตัวเรา ของเรา
เพราะการมีตัวเรา ของเรา ก็เหมือนการจับถือของนั้นไว้ ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งหนักมากเท่านั้น
ครั้นเมื่อของเหล่านั้น หลุดมือ สูญหาย เสียหาย หรือถูกแย่งไป ก็ก่อให้เกิดความโกรธ เศร้า เสียดาย เสียใจ
ต่อสิ่งเหล่านั้น เรียกได้ว่า ยิ่งยึดมาก ถือมาก ก็หนักมาก ทุกข์มาก นั้นเอง
แต่การทำให้ชีวิตเบา ก็ไม่ได้หมายความว่า ให้ละทิ้งทุกอย่างไปเสีย เพราะการทิ้งทุกอย่างไป
ก็เหมือนการปล่อยจากสิ่งที่มี ไปจับถือเอาสิ่งที่ไม่มีซึ่งก็ไม่อาจพ้นไปจากทุกข์ได้
การที่จะทำให้ ชีวิตเบา จึงต้องเข้าใจว่า สิ่งต่างๆ รอบตัวเรา กระทั้งตัวของเราเองนั้น
ไม่ใช่ของเรา เราจึงถือเอา ยึดเอา ว่ามันเป็นของเราไม่ได้ เพราะมันแค่มาเกี่ยวข้องกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เท่านั้น
เมื่อถึงเวลาหนึ่ง มันก็ต้องแยกออก แตกออกจากกันไป
ถ้าเช่นนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องดูแล บ้านเรา รถเรา พ่อแม่เรา ลูกเรา หรือตัวเราหรือ
นั่นก็ไม่ใช่ เพราะแม้จะไม่ยึดเอา ถือเอาว่าเป็น บ้านเรา รถเรา พ่อแม่เรา ลูกเรา หรือต้วเรา
แต่ก็ต้อง ดูแลสิ่งของเหล่านั้น ให้มีสภาพดี ซ่อมแซมเมื่อชำรุด ยินดีที่ของเหล่านั้นยังคงสภาพดีอยู่
และไม่เสียดายเมื่อสิ่งของเหล่านั้นสูญไป ส่วนคนเหล่านั้นรวมถึงตัวเรา ก็ต้องดูแล
ให้มีความสุข พ้นจากความทุกข์ ยินดีเมื่อมีความสุขความเจริญ และไม่เศร้าหมองเมื่อต้องจากไป
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราได้เห็นข่าวรถสปอร์ตหรู ชนขาดเป็นสองท่อน เราก็ไม่ได้รู้สึกเสียดาย
เพราะเราไม่ได้ยึดถือว่ารถนั้นเป็นของเรา แต่ถ้ามีคนเอารถสปอร์ตหรู มาให้เรา
หรือเราได้ซื้อมา แล้วเราก็ยึดว่ามันเป็นของเรา เมื่อรถคันนั้นเป็นอะไรไปเราก็จะรู้สึกเสียดายทันที
ดังนั้น การไม่มีตัวเรา ของเรา ก็คือ เมื่อมีคนให้รถสปอร์ตหรู หรือเราซื้อมา
ในระหว่างที่รถอยู่กับเรา เราก็ใช้งานอย่างถนุถนอม ดูแลมันให้ดี ซ่อมแซมเมื่อชำรุด ยินดีเมื่อใช้งานได้ดี
แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องสูญเสียรถคันนั้น เราก็ไม่เสียดาย ไม่รู้สึกทุกข์ เพราะเข้าใจอยู่ว่ามันไม่ใช่ของเรา
หากคิดได้เช่นนี้ ปฏิบัติได้เช่นนี้ แล้ว ก่อนได้รถมา ชีวิตก็เบา เมื่อได้รถมา ขีวิตก็เบา
เมื่อเสียรถไป ชีวิตก็เบา เพราะไม่ได้ ยึดเอา ถือเอา รถคันนั้นไว้เป็นของเรานั่นเอง … ฉันใดก็ฉันนั้น ทุกสิ่งก็เช่นกัน…