ตาบอดคลำช้าง : Dhammatakka

ตาบอดคลำช้าง

ตาบอดคลำช้าง

แท้จริงแล้วปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มักเกิดจากการที่คนส่วนหนึ่งมองความจริงเพียงด้านเดียว แล้วคนเหล่านั้นก็ยึดความจริงเพียงด้านเดียวนั้น ว่าเป็นความจริงไปเสียทั้งหมด

ดังเรื่อง ตาบอดคลำช้าง ที่มีอยู่ว่า ณ เมืองหนึ่ง มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในเมือง ผู้คนทะเลาะกันเพราะต่างเชื่อในทฤษฏีของตนว่าอย่างนี้จริง อย่างนี้ถูกต้อง เจ้าเมืองจึงเรียกชุมนุมคนในเมือง แล้วนำช้างเชือกหนึ่งมาไว้ที่กลางลาน หลังจากนั้นจึงสั่งให้ นำคนตาบอดแต่กำเนิดทั้งเมืองมา ยืนใกล้กับงวงช้างบ้าง งาช้างบ้าง เท้าช้างบ้าง ศรีษะช้างบ้าง และหางช้างบ้าง

เมื่อคนตาบอดทุกคนคลำช้างเสร็จ เจ้าเมือง จึงได้ถามกับเหล่าคนตาบอดนั้นว่า “ท่านว่าช้างนั้นมีลักษณะเช่นไร ” คนที่คลำงวงช้าง ก็ว่า ช้างเป็นลำยาวงอไปมาได้ คนที่คลำหัว ก็ว่า ช้างมีลักษณะเหมือนหม้อใหญ่มีขน คนที่คลำหูช้าง ก็ว่า ช้างเป็นแผ่นกว้างบาง คนที่คลำหาง ก็ว่า ช้างเป็นท่อนกลมมีขนตรงปลาย ฯลฯ แล้วคนตาบอดเหล่านั้น ก็เริ่มถกเถียงกัน ว่าช้างเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น จนถึงขั้นวิวาทกันในที่สุด

เรื่อง ตาบอดคลำช้างนี้ จึงเป็นอุทาหรณ์ให้รู้ว่า เมื่อคนเหล่าใดยึดถือความจริงที่ตนรู้ ความเชื่อที่ตนมี ทฤษฏีที่ตนเรียน หรือสิ่งที่ตนได้รู้ ได้เห็นอยู่แต่เพียงด้านเดียว แล้วก็เข้าใจผิดว่าส่ิงเหล่านั้นเป็นสิ่งที่จริง สิ่งที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่ควรคิด ควรพูด ควรกระทำ โดยไม่สนใจที่จะแสวงหาความจริงที่มีอยู่ทั้งหมดนั่นแล้ว ปัญหาย่อมเกิดขึ้น การวิวาทย่อมเกิดขึ้น และไม่มีทางเลยที่จะได้พบหนทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นให้หมดไปได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะมองความเป็นจริงให้ครบทุกด้าน การมองให้เห็นภาพรวมของปัญหา และการเข้าใจในความเป็นไปตามความธรรมดา ที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะความเกิดขึ้นของสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปของสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป” นี้เท่านั้น จึงจะมองเห็นหนทางที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างสมบูรณ์

#ตาบอดคลำช้าง #ธรรมตรรกะ #ปัญหา #การแก้ปัญหา #ธรรมะ #ความสุขกับชีวิต #ความสุข #วิวาท #ความไม่รู้

Author: sho

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *